สรุปข่าวสำคัญประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2565
1. **จับตาผลกระทบ! หลังศาลรัสเซียมีคำสั่งห้ามดำเนินการทุกอย่างผ่านท่อส่งน้ำมัน ‘Caspian’ เป็นระยะเวลา 30 วัน สร้างความกังวลเรื่องขาดแคลนน้ำมันทั่วโลก
ศาลรัสเซีย มีคำสั่งให้ ‘Caspian Pipeline Consortium’ หรือ CPC หนึ่งในผู้ให้บริการท่อส่งน้ำมันรายใหญ่ของโลก ระงับการดำเนินการเป็นระยะเวลา 30 วัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรั่วไหลของน้ำมัน ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดความกังวลเรื่องปัญหาขาดแคลนน้ำมัน
CPC เป็นผู้รับผิดชอบการส่งออกน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนราว 1% จากทั่วโลก โดยจะนำน้ำมันที่ผลิตจากคาซัคสถาน มายังแถบทะเลดำ เบื้องต้น ทาง CPC ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลในรัสเซีย ขอเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ในท่อส่งน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การส่งออกน้ำมันยังคงดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงเมื่อวันพุธ (5 กรกฎาคม) แต่ไม่แน่ใจว่า ในวันนี้ ยังคงดำเนินการต่อหรือไม่
ท่อส่งน้ำมันแห่งนี้ ใช้ส่งออกน้ำมันดิบราว 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเริ่มเป็นที่สนใจนับตั้งแต่ที่เกิดปัญหาความขัดแย้งรัสเซียและยูเครนขึ้น โดยหลังจากที่ชาติตะวันตกประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ก็ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันจากรัสเซียลดลง ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น
2. * ในขณะทีชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย จีนและอินเดียสวนกระแสการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกโดยการ ทุ่มเงินราว 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซีย
สำนักข่าว Bloomberge รายงานว่า รัสเซียได้รับเงินจำนวน 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 8.6 แสนล้านบาท จากการขายพลังงานเชื้อเพลิงให้กับจีนและอินเดีย ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน หลังเกิดปัญหาความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ราคาพลังงานเชื้อเพลิงโลกที่สูงขึ้น กำลังทำให้ความพยายามที่สหรัฐฯ และยุโรปจะลงโทษรัสเซียถูกจำกัด
มีข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา จีนได้จ่ายเงินค่าน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน ให้แก่รัสเซียคิดเป็นมูลค่าราว 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6.8 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ อินเดียก็จ่ายเงินค่าพลังงานเชื้อเพลิงให้แก่รัสเซีย 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.83 แสนล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบเมื่อปีที่แล้ว
การอุดหนุนพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซียของจีนและอินเดีย เข้ามาช่วยทดแทนจำนวนการซื้อที่ลดลงจากสหรัฐฯ และอีกหลายชาติในยุโรป ที่ต้องการลงโทษรัสเซียจากปัญหาความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้ การคว่ำบาตรรัสเซีย ยังส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูง กระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง และกลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ
ดูเหมือนว่าสถานการณ์แบบนี้จะยังไม่สิ้นสุดลงในเร็ว ๆ นี้ ด้วยราคาพลังงานที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ในขณะที่ รัสเซียก็พยายามที่จะสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ซื้อด้วยการลดราคาที่มากกว่ามาตรฐานโลก
จีน ยังคงมีปริมาณการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ในเดือนมิถุนายน ขณะที่อินเดีย ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณการซื้อในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งตรงกับช่วงที่มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป ที่จะไม่นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียมีผลบังคับใช้พอดี
รัสเซียถือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และด้านการค้ากับจีน และอินเดียมาอย่างยาวนาน โดยมีการเสนอส่วนลดจำนวนมาก แถมยังรับชำระเป็นสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อช่วยรักษาการไหลเวียนทางการค้า และทำให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศแข็งแกร่งในปีนี้
จีน ถือเป็นประเทศที่มีการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงมากที่สุดในโลก และมีท่อส่งน้ำมันสำหรับนำเข้าก๊าซและน้ำมันจากแถบไซบีเรียของรัสเซียโดยเฉพาะ แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกจะมีการใช้พลังงานที่ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการล็อกดาวน์ หรือ จำกัดพื้นที่ จากสถานการณ์โควิด-19 แต่จีนก็จ่ายเงินซื้อพลังงานจากรัสเซียมากขึ้น เนื่องจากราคาที่สูงขึ้น และปริมาณนำเข้าที่มากขึ้นเล็กน้อย
ด้านอินเดียก็จ่ายเงินซื้อพลังงานจากรัสเซียเพิ่มขึ้นมากจนน่าตกใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอินเดียไม่ได้มีพรมแดนติดกับรัสเซียเหมือนกับจีน ดังนั้น จึงมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่มากกว่า นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากรัสเซียอีก 3 รายการ นับตั้งแต่ที่เกิดปัญหาความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน ขึ้นอีกด้วย
3. **จับตา! เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5% หรือ 0.75% เดือนนี้ หวังฉุดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยระบุว่า กรรมการเฟดยังคงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการควบคุมเงินเฟ้อ แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยก็ตาม โดยกรรมการเฟดเชื่อว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมเดือนก.ค.ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม และมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
“ในการอภิปรายถึงนโยบายที่คาดว่าจะมีการบังคับใช้ในการประชุมครั้งต่อไปนั้น กรรมการเฟดยังคงเล็งเห็นว่า การปรับเพิ่มเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (Federal Funds Rate) ถือเป็นเรื่องเหมาะสมในการบรรลุเป้าหมายของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) โดยกรรมการเฟดเชื่อว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมเดือนก.ค.”
รายงานการประชุมเฟดยังระบุด้วยว่า การที่คณะกรรมการ FOMC มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งจำเป็นต่อการควบคุมตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2524 โดยเฟดจะดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินไปจนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายระยะยาวที่ระดับ 2%
“กรรมการเฟดมีความเห็นตรงกันว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐมีความแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับการคุมเข้มนโยบายการเงิน และกรรมการเฟดพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่จะใช้นโยบายคุมเข้มมากขึ้นหากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว”
“กรรมการเฟดตระหนักว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในช่วงเวลาหนึ่ง แต่กรรมการเฟดมองว่า การทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ถือเป็นภารกิจที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานที่เต็มศักยภาพอย่างยั่งยืน” รายงานการประชุมเฟดระบุ
สำหรับการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537
ข้อมูลอ้างอิงจาก – infoquest / TNN World /Reuters / Bloomberge
#MarketNews #ZFX #ZFXThailand