ข่าวการตลาด
สรุปข่าวสำคัญประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2565 - ZFX

สรุปข่าวสำคัญประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2565

14-07-2022 04:51

1.**แคนาดาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอีกหลังเงินเฟ้อปรับตัวสูง 

ธนาคารกลางแคนาดาประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% สู่ระดับ 2.5% ในการประชุมเมื่อวันพุธ (13 ก.ค.) โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมเงินเฟ้อ พร้อมกับเตือนว่า ธนาคารกลางอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในวันข้างหน้า 
ทั้งนี้ ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541 และอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 

แถลงการณ์ของธนาคารกลางแคนาดาระบุว่า อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศกำลังเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ที่ระดับ 8% ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อันเนื่องมาจากผลกระทบของสงครามในยูเครน, ภาวะชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และอุปสงค์ที่สูงเกินไปในแคนาดา 
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของแคนาดาพุ่งขึ้น 7.7% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี โดยดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค 

2.*ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะเดินทางเยือนอิหร่าน 

 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย จะเดินทางเยือนอิหร่านในสัปดาห์หน้า หนึ่งวันหลังจากสหรัฐฯ เตือนว่าอิหร่านอาจมอบโดรนติดอาวุธแก่รัสเซียสำหรับใช้ในปฏิบัติการทางทหารยูเครน พร้อมกับมองว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าว บ่งชี้รัสเซียกำลังจำเป็นต้องเสริมทัพอย่างเร่งด่วน เนื่องจากประสบความสูญเสียอย่างหนัก 
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินเผยว่า ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงเตหะราน ของอิหร่านในสัปดาห์หน้า ประธานาธิบดีปูตินจะร่วมหารือไตรภาคีกับผู้นำของอิหร่านและตุรกี ในการประชุมเกี่ยวกับประเด็นซีเรีย ที่เรียกว่า ‘แอสตานา’ รวมถึงจะพบปะหารือแยกกับประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกีด้วย หลังจากเมื่อเดือนมีนาคม แอร์โดอันช่วยเป็นคนกลางการเจรจาสันติภาพระหว่างคณะผู้แทนของรัสเซียกับยูเครน ที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี 

อย่างไรก็ตาม เปสคอฟ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะไม่มีการพูดคุยหารือเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพรอบใหม่ 
การเดินทางเยือนอิหร่านของปูติน จะมีขึ้นตามหลังโปรแกรมเยือนอิสราเอลและซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ โดยที่ประเด็นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในภูมิภาคจะเป็นหัวข้อสำคัญของการหารือ 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันจันทร์ (11 กรกฎาคม) เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว ระบุว่าอิหร่านกำลังมีแผนมอบโดรนต่อสู้ศักยภาพติดอาวุธจำนวนหลายร้อยลำแก่รัสเซีย สำหรับนำไปใช้ในปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ความเคลื่อนไหวที่ก่อความกังวลว่า อาจทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย 
ซัลลิแวน กล่าวว่า ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าอิหร่านได้ส่งมอบโดรนให้แก่รัสเซียไปแล้วหรือไม่ แต่สหรัฐฯ มีข้อมูลบ่งชี้ว่า อิหร่านกำลังเตรียมการฝึกฝนกองกำลังรัสเซียสำหรับใช้โดรนเหล่านั้นอย่างเร็วที่สุดในเดือนนี้ 
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ บอกว่า แผนของรัสเซียในการจัดซื้อโดรนต่อสู้จากอิหร่าน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเสริมกำลังของรัสเซีย เนื่องจากเผชิญความสูญเสียอย่างหนัก หลังปฏิบัติการรุกรานยูเครนยืดเยื้อมานานหลายเดือน 

อย่างไรก็ตาม เคอร์บียืนยันว่า การจัดหาอาวุธไม่จำเป็นต้องส่งผลกระทบต่อความพยายามรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ที่อิหร่านทำไว้กับบรรดาชาติมหาอำนาจ สำหรับยับยั้งเตหะรานจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ 

3.*IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 2.3% 

 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 2.3% 
คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เปิดเผยว่า มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตปี 2022 ของสหรัฐฯ ลงมาอยู่ที่ 2.3% ในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน หลัง IMF คาดการณ์การเติบโตเอาไว้ที่ 2.9% โดยเมื่อเดือนเมษายน IMF คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ของสหรัฐฯ ขยายตัว 3.7% ในปีนี้ พร้อมยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2023 จะเติบโต 2.3% ในเดือนเมษายน ก่อนปรับลดคาดการณ์อยู่ที่ 1.7% เมื่อเดือนมิถุนายน และจากนั้นเหลือ 1% เมื่อวานนี้ 
สหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากภาวะโรคระบาด อันเป็นผลมาจากการดำเนินโยบายการเงินและการคลังอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว มักตามมาด้วยภาวะเงินเฟ้อพุ่ง ที่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทั่วโลก 

ทั้งนี้ ค่าแรงและราคาสินค้าสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหาร เห็นด้วยว่า การหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยในสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นความท้าทายมากขึ้น และที่สำคัญคือปัจจัยลบที่เกิดจากการที่รัสเซียบุกยูเครน ซึ่งขณะนี้ยืดเยื้อมากว่า 4 เดือนแล้ว ทำให้ราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหารพุ่งขึ้นทั่วโลก และยังทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนพฤษภาคมสูงถึง 8.6% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 40 ปี 

ข้อมูลอ้างอิงจาก – infoquest / TNN World / Reuters / CNN / Investing 

#MarketNews #ZFX #ZFXThailand