จับตา! เศรษฐกิจอังกฤษเสี่ยงถดถอย หลังหดตัวลงในเดือนส.ค. : สรุปข่าว 14 ต.ค. 65
เศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังข้อมูลบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจหดตัวลงแบบไม่คาดคิดในเดือนส.ค. ตอกย้ำความท้าทายที่นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ต้องเผชิญ
ข่าว Forex วันนี้
1.**เศรษฐกิจอังกฤษเสี่ยงถดถอย หลังหดตัวลงในเดือนส.ค.
เศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังข้อมูลบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจหดตัวลงแบบไม่คาดคิดในเดือนส.ค. ตอกย้ำความท้าทายที่นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ต้องเผชิญ หลังจากที่ได้ให้คำมั่นต่อประชาชนเอาไว้ว่าจะเร่งขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ
สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เดือนส.ค.ของอังกฤษหดตัวลง -0.3% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค. โดยถูกกดดันจากความอ่อนแอด้านการผลิตและการบำรุงรักษาแหล่งน้ำมันและก๊าซในแถบทะเลเหนือ นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจครั้งล่าสุดนี้ยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เงินเฟ้อมีต่อผู้บริโภค
ขณะที่ ผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า GDP เดือนส.ค.ของอังกฤษนั้นจะอยู่ที่ 0.0%
ข้อมูล GDP ที่เพิ่มขึ้นในเดือนก.ค.ได้รับการแก้ไขให้ลดลงมาอยู่ที่ 0.1% จากการประมาณการก่อนหน้านี้ที่ 0.2% และในช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค. GDP ของอังกฤษปรับตัวลดลง -0.3% โดยนับเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่อังกฤษยังคงตกอยู่ในวิกฤตโควิด-19 ระบาด
นางยาเอล เซลฟิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทเคพีเอ็มจี ยูเคให้ความเห็นว่า “แรงกดดันต่อสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือน ยังคงเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจอังกฤษเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้”
ทั้งนี้ GDP ในเดือนก.ย. มีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงไปอีก เนื่องจากมีวันหยุดนักขัตฤกษ์เฉพาะกิจจากพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
2.**จับตา! จีนเปิดฉากประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์วันอาทิตย์นี้
การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจัดขึ้นทุก 5 ปีนั้น จะเปิดฉากขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 16 ต.ค.นี้ โดยการประชุมซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของจีนและเป็นที่จับตาจากทั่วโลกนี้ จะจัดขึ้นต่อเนื่องนานนับสัปดาห์
และในโอกาสเดียวกันนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง วัย 69 ปี จะเข้าใกล้การได้กุมอำนาจต่อเป็นสมัยที่ 3 และถือเป็นการท้าทายธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมที่บัญญัติให้ประธานาธิบดีแต่ละคนสามารถรั้งตำแหน่งผู้นำแดนมังกรได้เพียง 2 สมัย รวมทั้งสิ้น 10 ปี
หาก ปธน.สี ได้กุมอำนาจต่อเป็นสมัยที่ 3 ก็จะทำให้ชายผู้นี้เป็นผู้นำจีนที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดนับตั้งแต่สมัยเหมา เจ๋อตง เมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ทั่วโลกต่างจับตาว่าปธน.สีจะส่งสัญญาณผ่อนปรนการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์หรือไม่ โดยแม้กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยจำกัดจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดให้อยู่ในระดับต่ำ แต่ก็จุดชนวนความไม่พอใจให้กับประชาชน และส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างมาก
อย่างที่เกริ่นมาแล้วว่า การประชุมดังกล่าวมีความสำคัญและได้รับความสนใจจากทั้งสื่อจีนเองและสื่อต่างประเทศ In Focus จึงไม่พลาดที่จะขอเกาะกระแสเหตุการณ์ใหญ่ของโลก ด้วยการหยิบเอาข้อมูลที่น่าสนใจมานำเสนอ
*การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนคืออะไร
ทุก 5 ปี ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ CPC จากทั่วประเทศจะเดินทางมาประชุมกันที่มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เพื่อเลือกผู้นำการเมืองชุดใหม่ของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการกลาง (Central Committee) ที่ทรงอำนาจราว 200 คน คณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo) 25 คน และคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ที่มีสมาชิก 5-9 คน รวมไปถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อการสอบวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Central Commission for Discipline Inspection หรือ CCDI)
อย่างไรก็ดี แม้การประชุมสมัชชาใหญ่ถือเป็นองค์กรสูงสุดที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การตัดสินใจส่วนใหญ่นั้นได้มีขึ้นก่อนการประชุมจริง กล่าวคือ ถึงจะมีการลงคะแนนในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ แต่ในความเป็นจริง กลุ่มคนเหล่านั้นได้ถูกคัดเลือกไว้แล้วโดยผู้นำคนปัจจุบัน และคณะกรรมการกลางมีหน้าที่เพียงแค่รับรองคำสั่งเท่านั้น
สำหรับตำแหน่งสำคัญที่สุดที่จะมีการคัดเลือกและแต่งตั้งในการประชุมแต่ละครั้งก็คือ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ หรือเข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ผู้นำสูงสุดของพรรค แล้วตำแหน่งนี้มีความสำคัญอย่างไร ก็สำคัญตรงที่ผู้ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ จะได้ก้าวขึ้นไปเป็นประธานาธิบดีจีนต่อไปในอนาคต
ภายหลังจากที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนนำไปสู่การยกเลิกข้อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2561 หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่าปธน.สีจะอยู่ในอำนาจต่อเป็นสมัยที่ 3 แม้ล่วงเลยวัยเกษียณที่ 68 ปีตามธรรมเนียมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้วก็ตาม
3.**ตลาดจับตาการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์วันอาทิตย์นี้ หลังย้อนกลับไปดูประวัติการตอกย้ำ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนโยบาย
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน อาจตอกย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายประวัติศาสตร์ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยยกระดับสถานะความมั่นคงของชาติ แม้จะสูญเสียการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ตาม
บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่า หัวหน้าพรรคทุกคนนับตั้งแต่นายเจียง เจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีจีนในปี 2545 ได้ใช้การกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่ซึ่งจัดขึ้นทุก 5 ปีเพื่อยืนยันว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเป็น “ความสำคัญสูงสุด” ของพรรค แต่ปธน.สี อาจยกเลิกวลีดังกล่าวเพื่อสนับสนุนสโลแกนที่เรียกร้องให้ “สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาและความมั่นคง”
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ปธน.สีเริ่มใช้สโลแกนดังกล่าวบ่อยครั้งในช่วงปี 2563 เพื่อเน้นย้ำถึงการรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ รวมถึงโรคระบาดในอนาคต ขณะที่เขาได้เริ่มเรียกร้องให้ใช้แนวทางแบบบูรณาการด้านความมั่นคงและการพัฒนาตั้งแต่ปี 2557 เขาก็ยังคงกล่าวถึง “การพัฒนาเป็นอันดับแรก” ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกของเขาในการประชุมพรรคเมื่อปี 2560
โฮเวิร์ด หวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายของจีนจากแรนด์ คอร์ปอเรชั่นกล่าวว่า การยกเลิกสโลแกนเดิมและมุ่งให้ความสำคัญมากขึ้นกับความมั่นคงนั้นแสดงให้เห็นว่า จีนจะมีความอดทนมากขึ้นต่อความเสี่ยงที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอลง
นายหวังระบุเสริมว่า นโยบายล่าสุดของจีน เช่น การเดินหน้าควบคุมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) สะท้อนถึงความเต็มใจของจีนที่จะเผชิญกับต้นทุนทางเศรษฐกิจเพื่อรับประกันด้านความมั่นคง อย่างน้อยที่สุดก็คือ ความมั่นคงทางการเมืองของผู้นำพรรค
วลี “ความสมดุลระหว่างความมั่นคงและการพัฒนา” ถูกระบุไว้ในกฎหมายหลายฉบับนับตั้งแต่ปี 2563 และยังมีการใช้วลีนี้เพิ่มขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับสหรัฐในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และในช่วงเดือนท้าย ๆ ของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ
วลีดังกล่าวถูกใช้ทั้งสิ้น 3 ครั้งใน “มติประวัติศาสตร์” ของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นเอกสารนโยบายสำคัญที่ออกเมื่อเดือนพ.ย.เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ทศวรรษ โดยที่ไม่มีการพูดถึงวลี “การพัฒนามาเป็นอันดับแรก” ซึ่งก็เป็นสัญญาณอีกประการหนึ่งที่บ่งชี้ว่า วลีดังกล่าวอาจถูกตัดออกจากการแถลงสุนทรพจน์ของปธน.สี
ทั้งนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดว่า จีนจะพลาดเป้าหมายของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2565 อย่างมากในปีนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มตั้งเป้าหมายดังกล่าวในช่วงต้นทศวรรษ 1990 (2533) โดยจีนได้มองข้ามความสำคัญของเป้าหมายในปีนี้ ซึ่งก็สอดคล้องกับการลดความสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงในมติประวัติศาสตร์ของปีที่แล้ว ซึ่งระบุว่า GDP ไม่ใช่หลักเกณฑ์เดียวของความสำเร็จ
*****************************
อ่านข่าวรวม กดที่ลิ้งค์ : /th/market-news/
*****************************
ข้อมูลอ้างอิง – infoquest / Reuters / Bloomberg News / Investing
#MarketNews #ZFX #ZFXThailand #US #USD #เงินเฟ้อ #Gold #ทอง #เงินเฟ้อ #อัตราเงินเฟ้อ #Investing #Bloomberg #Forexวันนี้ #ทองคำวันนี้ #แนวโน้ม #China #จีน #GDP #GBP #GBPUSD #อังกฤษ #England #เศรษฐกิจ #ศก.